คลังความรู้

หัวใจล้มเหลว Heart failure (HF)

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

  • เรียนรู้อาการต่างๆ ของภาวะคั่งน้ำและเกลือ ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บวม เหนื่อย นอนราบไม่ได้หรือต้องลุกขึ้นมานั่งหอบตอนกลางคืน หากมีอาการต้องแจ้งแพทย์และพยาบาลที่ให้การดูแลรักษา
  • ชั่งน้ำหนักตัวเองและบันทึกทุกวันหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งในตอนเช้า ภายหลังเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้ว และต้องชั่งก่อนรับประทานอาหารเช้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวมากกว่า 1 กิโลกรัมจากเดิมภายใน 1-2 วัน (หรือ 2 กิโลกรัมภายใน 3 วัน) แสดงถึงภาวะคั่งน้ำและเกลือแล้ว
  • จำกัดการรับประทานเกลือโซเดียม (2-3 กรัมต่อวัน) ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารกระป๋อง และของหมักดอง และไม่เติม เกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วลงไปเพิ่ม ควรจำกัดปริมาณน้ำดื่มตามแผนการรักษา
  • ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น กรณีที่มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัดแน่นท้อง มีน้ำหนักลดมากกว่า 5 กิโลกรัมในเวลา 6 เดือนหรือ BMI น้อยกว่า 22 กิโลกรัม/ตารางเมตร ควรรับประทานอาหารย่อยง่ายครั้งละไม่มากแต่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดสารอาหาร
  • งดสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1-2 แก้วต่อวัน หรืองดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลกดการทำงานของหัวใจและทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
  • หมั่นออกกำลังกายที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ คือ การเดินบนทางราบ โดยเริ่มทีละน้อยๆ จาก 2-5 นาทีต่อวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วเพิ่มเป็น 5-10 นาทีต่อวัน หรือเข้าสู่โปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจด้วยการออกกำลังกาย หากมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สุขสบายควรงดออกกำลังกาย
  • สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หากเดินขึ้นบันได 1 ชั้น (8-10 ขั้น) ได้โดยไม่มีอาการหอบเหนื่อยหรือหยุดเดินกลางคัน เนื่องจากอาจมีอาการทรุดหนักลงได้หลังมีเพศสัมพันธ์
  • รับประทานยารักษาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติใดๆ ที่เป็นอาการข้างเคียงของยาต้องปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดรับประทานยาทุกครั้ง หากซื้อยารับประทานจากร้านยาต้องปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของยาต่อหัวใจ ไต หรือปฏิกิริยาร่วมกับยาอื่นที่ใช้รักษาอยู่
  • ลดความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ออกกำลังกายที่พอเหมาะ การทำสมาธิ
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไกลที่ต้องนั่งเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยไม่ควรเดินทางคนเดียว หากภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการแย่ลงมากไม่ควรเดินทางโดยสารเครื่องบิน
  • ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีในกรณีไม่มีข้อห้าม
  • มาตรวจและพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ










วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

Heart failure


ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจเกิดจากมีความผิดปกติของโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายหรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ

ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแบ่งได้หลายชนิด แต่หากใช้การแบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute heart failure) เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการคงที่แต่กลับแย่ลงในเวลาไม่นาน
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (chronic heart failure) พบได้ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันมาก่อนหรือไม่ก็ได้ แต่ในขณะที่ทำการวินิจฉัยผู้ป่วยมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวและ/หรือมีการทำงานที่ผิดปกติไปของหัวใจคงอยู่เป็นเวลานาน


การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

แบบประเมินอาการภาวะหัวใจล้มเหลว

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว


หายใจไม่เต็มอิ่ม

ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุของน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจทำให้มีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน หรือขึ้นบันได

เหนื่อยอ่อน

ภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้เลือดมีออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายลดลง แต่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายยังคงต้องการออกซิเจนเพื่อเป็นพลังงาน จึงทำให้ผู้มีภาวะหัวใจล้มเหลวรู้สึกเหนื่อยอ่อนได้ง่าย


เบื่ออาหาร

การคั่งของของเหลวในทางเดินอาหารอาจส่งผลต่อการย่อยอาหารและอาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกเบื่ออาหาร หรือไม่สบายเมื่อรับประทานอาหาร

น้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็ว

ภาวะหัวใจล้มเหลวที่ทรุดหนักลง อาจมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากมีการสะสมของเหลวในร่างกาย

หัวใจเต้นเร็ว

บางครั้งหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเพื่อชดเชยความสามารถในการสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงทั่วร่างกายอย่างพอเพียง

ความถี่ในการปัสสาวะ

การที่มีเลือดไปเลี้ยงไตลดลงจากภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสาเหตุที่ทำให้ความถี่ในการปัสสาวะลดลง แต่หากได้รับยาขับปัสสาวะ (เช่น water pill) คุณอาจปัสสาวะบ่อยขึ้นเพื่อขับของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย

อาการบวมของข้อเท้า ขาและท้อง

เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ใส่อาจคับขึ้น จากอาการบวมเนื่องจากมีของเหลวคั่งที่บริเวณขา ข้อเท้า หรือช่องท้อง

หายใจไม่เต็มอิ่มเมื่อนอนราบ

การนอนราบอาจยิ่งทำให้คุณรู้สึกหายใจลำบาก จึงจำเป็นต้องนอนในท่านั่งหรือหนุนศีรษะให้สูงขึ้นด้วยหมอนหลายๆ ใบ